วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทที่ 5 การทอผ้าไหม


                                       การทอผ้าไหม


การทอผ้าไหม

มรดกทางวัฒนธรรมของชาวสุรินทร์โบราณ   อย่างหนึ่งที่ทิ้งไว้ให้แก่ชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมรในปัจจุบันคือ ศิลปะในการทอผ้าไหม  เพราะถึงแม้ว่า  ผ้าไหมจะมีการทอใช้ในท้องที่หลายแห่งของประเทศไทยก็ตาม  แต่รูปแบบของศิลปะ  ลวดลาย  และวิธีการทอผ้าในท้องที่ดังกล่าวนั้น  ก็ไม่เหมือนที่มีอยู่ในท้องที่จังหวัดสุรินทร์

การเตรียมเส้นไหม

ชาวสุรินทร์สมัยก่อน  เวลาอพยพครอบครัวไปอยู่หมู่บ้านอื่น  สัมภาระที่ต้องขนกันมาก  ดูเหมือนว่าจะเป็นเครื่องมือทอผ้า  เพราะดูเหมือนว่าการบรรทุกเครื่องมือทอผ้านั้น เกวียนเล่มหนึ่งแทบจะขนไม่หมด  เพราะเครื่องมือเหล่านั้นมีมาก    ในการเตรียมเส้นไหมก่อนที่จะเข้ากี่ทอผ้า  ก็เช่นเดียวกัน  ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีแม่กับลูกสาว  2 คน ช่วยกันเตรียมเส้นไหมเพื่อทอผ้าไหมมัดหมี่ เขาจะต้องใช้เวลาในการเตรียมเส้นไหม เป็นเวลาถึง 3 เดือนทีเดียว นั่นก็หมายความว่า เขาจะต้องใช้เวลาหลังการเก็บเกี่ยวทั้งฤดูกาล เพียงเพื่อทอผ้าไหมให้ได้เพียง 1 กี่เท่านั้น (ถ้าเป็นผ้านุ่ม จะได้ประมาณ 12 ขีด 15 ผืน ต่อหนึ่งกี่)
ก.  การเตรียมเส้นยืน  เส้นไหมที่ใช้ทอนั้นมี 2 ชนิด คือ เส้นยืนและเส้นพุ่ง สำหรับเส้นยืนจะมีความยาวประมาณ 25 เมตรเศษ   ทั้งนี้แล้วแต่จะต้องการผ้าไหมกี่ผืน ภายหลังจากสาวเป็นเส้นไหมแล้ว สิ่งที่สำคัญที่จะต้องทำอย่างพิถีพิถันก็คือ
1. การตีเกลียว เส้นไหมที่ไม่ได้ตีเกลียวจะใช้ทอไม่ได้
2. การควบเส้น โดยมากมักจะควบอย่างน้อย 2 เส้น เพื่อให้ผ้าไหมหนาพอสมควร
3. การฟอก เพื่อให้เส้นไหมนิ่ม ทำให้ทนทานในการใช้สอย
4. การย้อมสี ตามความต้องการของผู้ทอว่าจะต้องการพื้นสีอะไร
5. การเข้ากี่ การเตรียมเส้นยืน ตามที่กล่าวมานี้ ถ้าหากพิจารณาดูตามนี้ รู้สึกว่าจะไม่มากนักแต่    ขั้นตอนใน การปฏิบัติอย่างแท้จริงนั้นยุ่งยากและยาวมากทีเดียว
ข.  การเตรียมเส้นพุ่ง ตามปกติผ้าไหมมัดหมี่ มักจะมีการมัดเพียงเส้นพุ่งเท่านั้น  ยกเว้นผ้าอัมปรม  ซึ่งมีการมัดเส้นยืนด้วย  วิธีการขั้นต้นเช่นเดียวกันกับการเตรียมเส้นยืนข้อ 1 – 3 แต่หลังจากนั้นก็มีการมัดหมี่ตามลวดลายที่ต้องการก่อนที่จะเข้ากระสวย เพื่อทอเป็นผ้า
การทอผ้าไหนในท้องที่จังหวัดสุรินทร์  มีความแตกต่างจากการทอผ้าไหมในจังหวัดอื่นหลายประการ  แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ 
ประการแรก  จังหวัดสุรินทร์มีการทอผ้าไหมทุกแบบ  ที่มีอยู่ในประเทศไทย เช่น
1. การทอผ้าพื้น ซึ่งมีการทอในจังหวัดต่าง ๆ หลายแห่ง  แต่เพราะชาวสุรินทร์เห็นว่า  ผ้าไหมนั้นเป็นของสูง  ดังนั้น  การที่จะทอผ้าพื้นธรรมดาก็ดูเหมือนจะไม่มีค่าเพียงพอในการที่จะเก็บรักษาหรือสวมใส่  ดังนั้น  ถ้าหากจะทอผ้าพื้น  ก็จะต้องทอให้เป็นประเภทที่แสดงออกทางด้านศิลปะที่สวยงามกว่าปกติ  การทอผ้าไหมพื้นของชาวสุรินทร์  ซึ่งต้องทอด้วยเส้นไหมพุ่ง 2 เส้น  ต่างสีตีเกลียวกัน  เมื่อทอออกมาแล้วจะทำให้ผ้ามีสีสวยงามกว่าปกติ  โดยเรียกชื่อว่า  ผ้ากระนิว (คนไทยเรียกว่า  ผ้าหางกระรอก)  ซึ่งคนไทยสมัยก่อนนิยมใส่จูงกระเบน  บางทีก็เรียกว่า ผ้าม่วง นั่นเอง
2. ผ้าลายตาราง เนื่องจากชาวสุรินทร์นิยมใส่ผ้าไหมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง โดยเฉพาะผู้ชายนั้นจะมีผ้าโสร่งสำหรับนุ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นผ้าตาราง เช่นเดียวกับผ้าขาวม้า (สไบไหม) ซึ่งนิยมใช้คาดเอว ส่วนสตรีนั้นจะทอผ้าตารางเล็ก ๆ คือผ้าสระมอ ผ้าสาคู อันลูนเสียม (ลายไทย)
3.  ผ้ายกดอก ผ้าไหมซึ่งเป็นที่นิยมทอใช้สำหรับสตรีชาวสุรินทร์ ไม่ว่าจะเป็นสำหรับตัดเสื้อ หรือทำผ้าสไบเฉียงก็คือผ้ายกดอก ซึ่งอย่างน้อยจะต้องใช้ 2 สีขึ้นไป ผ้ายกดอกที่มีการทอในจังหวัดสุรินทร์  เท่าที่พบมีอยู่ 3  แบบคือ
(1) ผ้าฉนูดเลิก เป็นผ้ายกธรรมดา  ซึ่งอาจจะทอด้วยสีขาวหรือดำอย่างเดียวก็ได้  หรืออาจจะทอ 2 สีก็ได้ ลักษณะการทอผ้ายกดอกชนิดนี้  มีเครื่องมือการทอเช่นเดียวกับผ้ายกเมืองนคร (นครศรีธรรมราช)  หรือผ้ายกเชียงใหม่  หรือผ้ายกร้อยเอ็ด  จะแตกต่างกันก็เพียงแต่ผ้ายกเหล่านั้นมักจะใช้ดิ้นเงิน  หรือดิ้นทองเป็นเส้นพุ่งเพื่อให้มีความสวยงามยิ่งขึ้นเท่านั้น
(2) ผ้าละเบิก เป็นผ้ายกที่ใช้เส้นพุ่งกับเส้นยืนคนละสี เมื่อทอออกมาแล้ว จะทำให้มองดูสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง
(3) ผ้าดอกพิกุล เป็นผ้ายกอีกแบบหนึ่งที่ใช้ 2 สีเช่นเดียวกัน  แต่การยกดอกแตกต่างกันเท่านั้น  วิธีการทอผ้ายกดอกนั้น  สิ่งที่ต้องเน้นมากที่สุดก็คือ  จำนวนตะกอ  ถ้าหากดอกเล็กจะใช้ตะกอน้อย  แต่ถ้าหากดอกใหญ่  จะใช้ตะกอมากขึ้น   ตะกอที่ใช้ทอผ้ายก  จะมีตั้งแต่ 4-12 ตะกอทีเดียว
4. ผ้าจก หลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ชาวสุรินทร์นั้นนอกจากทอผ้าไหมแบบต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ยังสามารถทอผ้าจกเช่นเดียวกับชาวอีสานทั่วไปได้ด้วย    หลักฐานที่แสดงนั้นก็คือ  ผ้าปะโบร์  คือผ้าไหมมัดหมี่โฮล  สมัยโบราณนั้นเนื่องจากฟืมทอผ้ามักจะสั้น  เมื่อทอเสร็จแล้ว  ผ้าที่นุ่งมักจะสั้นเกินไป  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทอผ้าชิ้นเล็ก ๆ เพื่อต่อที่ชายด้านล่าง  ผ้าที่ชาวสุรินทร์เรียกปะโบร์ ก็คือผ้าสิ้นตีนจก  ที่ชาวหาดเสี้ยวอุทัยธานี  สุพรรณบุรีทอกันนั่นเอง  การทอผ้าจก เนื่องจากต้องการลายผ้าใหญ่  ต้องใช้ตะกอมาก  คือตั้งแต่ 8 ตะกอขึ้นไปซึ่งลำบาก  ผู้ทอจึงใช้วิธีการจกดีกว่า
5. ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมมัดหมี่  เป็นศิลปะการทอผ้าชนิดหนึ่ง  ซึ่งใช้วิธีการมัดแล้วย้อมสี (Tie  and dye)  วิธีการมัดและย้อมสีเพื่อให้สามารถได้รูปร่างหรือลายผ้าที่ต้องการนั้น  จึงนับว่าเป็นศิลปะที่มีความลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง  ศิลปะการทอผ้าไหมมัดหมี่ที่ดูเหมือนจะมีเฉพาะประเทศในแถบเอเชียเท่านั้น  ส่วนทางยุโรป  อเมริกา  ดูเหมือนจะไม่มี  สำหรับลายผ้ามัดหมี่ที่เห็นอยู่โดยทั่วไปนั้น  จะมีลายที่มีลักษณะเป็นรูปเรขาคณิต  คือเป็นมุมฉาก  หรือตัดตรง  ลายที่เห็นกันตามปกติจะได้แก่   ลายหมี่ขอ  หมี่ข้อ  หมี่คั่น  หมี่โคม  หมี่กง  หมี่บักจับ  ซึ่งมักจะพบเห็นได้ในจังหวัดอื่น ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือแทบทุกจังหวัด  ส่วนจังหวัดอื่นในภาคกลาง  ก็จะพบแถวจังหวัดสุพรรณบุรี   ราชบุรี  อุทัยธานี  ชัยนาท  สิงห์บุรี  ซึ่งส่วนมากท้องที่เหล่านั้นมีชาวอีสานอพยพไปอยู่แทบทั้งนั้น
ประการที่สอง  ลายผ้ามัดหมี่ของจังหวัดสุรินทร์  นอกจากมีลายธรรมดาที่มีอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ แล้ว  ยังมีลายที่แปลกและไม่เหมือนจังหวัดใดเลยอีกมากมาย  จากการศึกษาลายผ้าไหมมัดหมี่ของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  กระทรวงอุตสาหกรรมในจังหวัดต่าง ๆ ปรากฏว่า  สามารถกำหนดแม่ลายหลักไว้ได้หมด  แต่จังหวัดสุรินทร์นั้น  ถึงแม้ว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาหลายปี  ก็ไม่สามารถกำหนดแม่ลายหลักได้  นั่นคือลายต้นไม้  ลายรูปนก  ลายรูปสัตว์  ลายกนก  และลายอื่น ๆ  ลายหลักที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้เรียกว่า แม่ลาย    แม่ลายมัดหมี่   ลายที่ใช้ในการทอผ้ามัดหมี่  ในภาคอีสานและภาคกลางมีจำนวนมากมาย  แต่จากการสำรวจและศึกษาลายต่าง ๆ เหล่านี้  สามารถจะจัดกลุ่มและคัดเลือกออกมาเป็นแม่ลายพื้นฐานได้ 7 ลายได้แก่

1. หมี่ข้อ    2. หมี่โคม   3. หมี่บักจับ   4. หมี่กงน้อย    5. หมี่ดอกแก้ว                       6. หมี่ขอ    7. หมี่ใบไผ่

ก. ผ้าไหมมัดหมี่จังหวัดต่าง ๆ
          ข.  ผ้ามัดหมี่ของจังหวัดสุรินทร์ สำหรับจังหวัดสุรินทร์นั้น  นอกจากมีการทอผ้าไหมมัดหมี่คล้าย กับที่เห็นในท้องที่จังหวัดต่าง ๆแล้ว ยังมีลายที่มีความแตกต่างไปอีกมากมายหลายชนิด (จากการศึกษาลายผ้าไหมมัดหมี่ในประเทศไทย  ซึ่งมีอยู่ประมาณ 800 ลาย  ปรากฏว่ามีอยู่ในท้องที่จังหวัดสุรินทร์มากกว่า 500 ลาย)  ผ้าอัมปรม  ตามปกติผ้าไหมมัดหมี่ในประเทศไทย  จะเป็นการมัดเฉพาะเส้นพุ่ง  ส่วนประเทศที่มีการมัดหมี่ทั้งเส้นพุ่งเส้นยืนนั้น  มีอยู่เพียง 4 ประเทศเท่านั้น คือ  แกรชิงของจีน  ปโตลาของอินเดียตอนเหนือ  บาหลีของอินโดนีเซีย  และญี่ปุ่น  แต่ในจังหวัดสุรินทร์มีการมัดหมี่ทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืนคือ ผ้าอัมปรม ทำให้เชื่อว่าศิลปะการทอผ้าไหมมัดหมี่ชนิดแรกที่เกิดขึ้น  อาจจะเป็นผ้าอัมปรม มีลักษณะเป็นจุดประขาว  สีเปลือกมังคุด  (เหมือนดาวที่ทอแสงระยิบระยับในเดือนมืด)  ดูคล้ายกับผ้าตารางธรรมดาเท่านั้น  จึงน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกพร้อม ๆ กับการแผ่ขยายทางศาสนาฮินดู  เมื่อสมัย 2000 ปีมาแล้ว
ก. ผ้ามัดหมี่ลายธรรมดา  มีลายหมี่โคม  หมี่คั่น  หมี่ข้อ  ซึ่งจะพบที่บ้านจารพัต  อ.ศรีขรภูมิ  บ้านสดอ  ต.เขวาสินรินทร์  อ.เมือง บ้านสวาย  บ้านนาแห้ว  ต.สวาย  อ.เมือง  สุรินทร์
ข. ผ้ามัดหมี่ลายกนก  เช่นลายพุ่มข้าวบิณฑ์  ลายสับปะรด  ลายก้านแย่งประจำยาม  ลายพนมเปญฯลฯ  จะพบมากที่บ้านสวาย  ต.สวาย  อ.เมือง  สุรินทร์
ค. ผ้ามัดหมี่ลายต้นไม้   ลายรูปสัตว์  และลายผสมอื่น ๆ  พบมากที่บ้านสวาย  ต.สวาย  บ้านสดอ  ต.เขวาสินรินทร์  บ้านจันรม  ต.ตาอ๊อง  อ.เมือง  สุรินทร์
ง. ผ้าปูม  เป็นผ้ามัดหมี่ลวดลายสวยงามมาก  ในสมัยที่เขมรขึ้นต่อประเทศไทย เขมรต้องส่งผ้าทอชนิดนี้ให้เป็นเครื่องราชบรรณาการ  และขุนนางไทยนำไปใช้นุ่งแสดงฐานันดรศักดิ์  ผ้าปูมนี้ยาวประมาณ 4 เมตร  หรือ 2 เท่าของผ้านุ่งธรรมดา   ลายโบราณเหล่านี้สามารถทอได้ในบ้านสวาย  บ้านนาแห้ว  ต.สวาย  บ้านสดอ  ต.เขวาสินรินทร์
จ. ผ้าโฮล  นับเป็นผ้าที่ชาวสุรินทร์ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง  และเป็นเอกลักษณ์ของผ้ามัดหมี่สุรินทร์โดยแท้  ที่ที่อื่นซึ่งมิใช่ชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมรไม่สามารถเลียนแบบได้  อีกประการหนึ่ง  ผ้าโฮลเป็นผ้าชนิดเดียว  ที่ชาวสุรินทร์ยังนิยมย้อมสีธรรมชาติมาโดยตลอดเวลา  ในการเรียนทอผ้าโฮลนั้นยากกว่ามาก  ในแต่ละหมู่บ้านที่มีการทอผ้ามัดหมี่จำนวนมาก  แต่ที่ทอผ้าโฮลได้มีไม่มากนัก   ดังนั้น  ผ้าโฮลจึงเป็นเอกลักษณ์ชิ้นหนึ่งของชาวสุรินทร์

ชนิดผ้าไหม

ผ้าไหมสุรินทร์ มีการแบ่งชนิดตามลักษณะของการใช้ประโยชน์ ซึ่งพอจะแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
1.  ผ้านุ่ง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ผ้านุ่งผู้ชายและผ้านุ่งสตรี ผ้านุ่งผู้ชายนั้นตามปกติผู้ชายสมก่อนจะนุ่งโสร่งไม่ว่าจะเป็นเวลาอยู่บ้านหรือออกนอกบ้าน ลักษณะผ้าโสร่งจะเป็นผ้าตารางตามที่เห็นในภาพ สำหรับสตรีแบ่งผ้านุ่งเป็น 2 ชนิด คือ ผ้านุ่งสำหรับอยู่บ้าน ซึ่งปกติจะนุ่งผ้าไหมชนิดที่เรียกว่า ผ้าสระมอ ผ้าสาคู หรืออันลูนเสียม (ลายไทย) ซึ่งผ้าทั้ง 3 อย่างนี้เป็นผ้าไหมที่ทอเป็นผ้าพื้นธรรมดาเพียงแต่สลับสีระหว่างเส้นพุ่งกับเส้นยืนเท่านั้น ตามปกติผ้าสระมอ จะมีสีเขียวขี้ม้า สลับสีขาว ผ้าสาคู จะมีสีแดง เขียว น้ำเงินสลับกัน  ผ้าอันลูนเสียมจะเป็นสีแดง เทา ส้ม ขาวสลับกัน สำหรับออกนอกบ้าน เช่น ไปทำธุรกิจในเมือง หรือทำบุญประเพณีต่างๆ สตรีชาวสุรินทร์จะนุ่งผ้าไหมมัดหมี่ชนิดที่มีลายสวยงาม และลายที่นิยมกันมากที่สุด คือผ้ามัดหมี่โฮลสีธรรมชาติ อันเป็นผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวสุรินทร์โดยเฉพาะ
2. ผ้าสไบ ซึ่งคนไทยเรียกว่า  ผ้าขาวม้านั่นเอง  ความจริงผ้าสไบไหมนี้แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ  สไบของผู้ชาย  ซึ่งมีลักษณะเป็นผ้าลายตาราง  บางทีก็มียกดอกที่ชายผ้า  ดังภาพที่เห็นข้างต้น  แต่ส่วนมากแล้วจะไม่ยกชาย  ส่วนสตรีชาวสุรินทร์ใช้ผ้าสไบไหมที่ทอแบบผ้ายกดอก(ฉนูดเลิก)  สีที่นิยมมี 2 สี  คือสีขาว กับสีดำ  ชาวสุรินทร์ทั้งหญิงชายนิยมใส่ผ้าสไบไปในงานต่าง ๆ ตลอด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการไปวัดในวันพระ
3. ผ้าปูมเขมร ผ้าปูมนี้เป็นผ้านุ่งชนิดหนึ่ง  ซึ่งขุนนางไทยสมัยก่อนนิยมใช้  นอกจากเพื่อความสวยงามแล้วยังเป็นการแสดงออกถึงฐานันดรศักดิ์ของตนเองอีกด้วย   ผ้าปูมเขมรมีขนาดเดียวกันกับผ้าม่วงไทย  คือกว้าง 1 เมตร  ยาว  3.60 – 4.00 เมตร  ( 2 เท่าของผ้านุ่งธรรมดา)  สำหรับลายผ้ามัดหมี่ที่เป็นผ้าปูมนั้นมีความแตกต่างกับผ้าไหมมัดหมี่ธรรมดาตรงที่ชายผ้า  ซึ่งมีความยาวประมาณ  15-20 เซนติเมตร  จะเป็นพื้นแดงและทำเป็นริ้วที่ชายผ้า  คนไทยเรียกว่า  ผ้าสมปักริ้ว
4. ผ้าพันคอ ปัจจุบันชาวสุรินทร์ได้พัฒนาชนิดผ้าไหมตามความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงสังคมชนิดหนึ่งก็คือ ผ้าพันคอสตรี จะเป็นลักษณะกว้าง ยาว ประมาณ 0.50 x 1.20 เมตร โดยทอเป็นผ้ามัดหมี่ลายคล้ายผ้าปูม โดยมีริ้วที่ชายซึ่งเป็นที่นิยมของสตรีในเมืองสมัยใหม่เป็นอย่างยิ่ง การทอผ้าไหมชนิดนี้เพื่อเพิ่มความงามอันวิจิตรยิ่งขึ้น จึงมักจะนิยมทอเป็นผ้ายกดอกและมัดหมี่ในผืนเดียวกัน
5.ผ้าคลุมเตียงหรือแขวนผนัง ผ้าอีกชนิดหนึ่ง  มีลักษณะคล้ายผ้าพันคอทุกอย่าง  เพียงแต่ขนาดทีใหญ่กว่า และใช้เส้นไหมที่ใหญ่กว่าเท่านั้น  คือขนาดกว้างคูณยาว เท่ากับ 1.10 x 2.30 เมตร  ผ้าชนิดนี้ชาวต่างประเทศนิยมซื้อไปแขวนประดับฝาหลังโต๊ะทำงาน  จึงเรียกผ้านี้อีกชื่อหนึ่งว่า  Hanging  ส่วนเส้นไหมที่ใช้ทอนั้น  สำหรับผ้าไหมตั้งแต่ 1 – 4 นั้นจะใช้เส้นไหมน้อย  หรือไหมกลาง  (ไหม 1 หรือไหม 2 ) แต่ถ้าหากต้องการหนาขึ้น  ก็จะใช้วิธีควบให้มีมากเส้นขึ้นกว่านั้น  แต่ผ้าไหมชนิดที่ 5 นั้น  เป็นผ้าที่ต้องการความหนามาก  ดังนั้นจึงใช้เส้นไหม 3 หรือไหมหัว  ซึ่งมีเส้นใหญ่แล้วควบ 4-6 เส้น จึงทำให้เห็นว่า  เมื่อทอเสร็จแล้ว  ผ้าชนิดนี้หนามากเป็นพิเศษ  จนกระทั่งบางคนมองแล้วนึกว่าไม่ใช่ผ้าไหมท้องที่ซึ่งมีการทอผ้าไหม  ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบันนี้  พอจะแยกเป็นตำบลได้ดังนี้
1. ตำบลสวาย ตำบลนาบัว อำเภอเมือง เฉพาะผ้ามัดหมี่แบบต่าง ๆ
2. ตำบลเขวาสินรินทร์ ตำบลตากูก ตำบลปราสาททอง   อำเภอเมือง โดยเฉพาะผ้ามัดหมี่โฮล
3. ตำบลตาอ๊อง อำเภอเมือง โดยเฉพาะบ้านจันรม
4. บ้านจารพัตร์ ตำบลจารพัตร์ อำเภอศรีขรภูมิ

ขั้นตอนการทำไหม

ก่อนที่จะทอผ้าไหมต้องมีขั้นตอนการเตรียมไหมก่อนทอหลังจากผ่านกรรมวิธีการเลี้ยงไหมแล้วจนตัวไหมทำรังขั้นตอนต่อไปก็คือนำตัวไหมที่มีรังหุ้มอยู่มาต้มเพื่อที่จะนำใยที่หุ้มตัวไหมอยู่ออกมาในรูปของเส้นไหม ซึ่งมีกรรมวิธี ดังนี้
1. การสาวไหม   ทำได้โดยการต้มตัวไหม โดยใช้หม้อขนาดวัดโดยรอบประมาณ 25 นิ้ว ปากหม้อนั้นครอบด้วยไม้โค้งคล้ายห่วงของถังไม้และใช้ไม้ลักษณะแบนเจาะรูตรงกลางพาดระหว่างห่วงทั้งสองข้าง และเหนือไม้แบนๆ นี้ มีไม้รอกคล้ายจักรที่ให้หนูถีบ ซึ่งจักรมีลักษณะเป็นรูปกลมๆ จากนั้นเอาฝักไหมที่จะสาวใส่ลงไปในหม้อ ประมาณ 30 - 50 นาที ระหว่างที่รอให้คน ประมาณ 2 - 3 ครั้ง ให้รังไหม สุกทั่วกัน แล้วเอาแปรงชะรังไหมเบาๆ เส้นไหมก็จะติดแปรงขึ้นมา จึงนำมาสอดที่รูตรงกลางของไม้ระหว่างห่วงทั้งสองข้าง และสาวให้พ้นรอก 1 รอบ จากนั้นเวลาสาวไหม จะใช้มือทั้งสองข้าง โดยมือหนึ่งสาวไหมจากรอกลงภาชนะที่รองรับเส้นไหม ส่วนอีกมือหนึ่งถือไม้อันหนึ่งเรียกว่า "ไม้ขืน" ซึ่งมีลักษณะเป็นง่ามยาวประมาณ 1 ศอกเพื่อเพื่อใช้ในการกดและเขย่ารังไหมที่อยู่ในหม้อเพราะรังไหมที่อยู่ในหม้อนั้นจะลอยถ้าไม่กด และเขย่าก็จะเกาะกันแน่นสาวไม่ออก หรือออกมาในลักษณะที่เส้นไหมมีขนาดไม่สม่ำเสมอกัน เครื่องสาวไหมทั้งหมดเรียกว่า "เครื่องพวงสาว" การสาวไหมนี้ต้องหมั่นเติมน้ำเย็นลงไปเป็นระยะระวังอย่าให้น้ำถึงกับร้อนและเดือด
เครื่องมือในการสาวไหมประกอบด้วย
1. เครื่องสาวไหม หรือ พวงสาว คือ รอกที่ใช้ดึงเส้นไหมออกจากหม้อ
2. เตาไฟสำหรับต้มรังไหม อาจเป็นเตาถ่านหรือเตาที่ใช้ฟืนก็ได้
3. หม้อสำหรับต้มรังไหมจะเป็นหม้อดินหรือหม้อเคลือบก็ได้ ที่นิยมใช้หม้อนึ่งข้าวเหนียว เรียกว่า หม้อนึ่งเพราะมีขอบปากบานออกรับกับพวงสาวได้พอดี
4. แปรงสำหรับชะรังไหมทำด้วยฟางข้าว
5. ถังใส่น้ำ เพื่อเอาไว้เติมน้ำในหม้อต้มเมื่อเวลาน้ำร้อนเดือด
6. ไม้ขืน สำกรับเขี่ยรังไหมในหม้อให้เป็นไปตามต้องการและให้เส้นไหมผ่านขึ้นไปยังรอก
7. กระบุงหรือตะกร้า สำหรับใส่เส้นไหม
2. การฟอกไหม   หลังจากที่สาวไหมจนหมดแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ ต้องนำไหมที่ได้นั้นมาฟอกให้นิ่มและเป็นสีขาว วิธีฟอกไหม ชาวบ้านไม่ได้ใช้สารเคมี แต่จะใช้ของที่หาง่ายอยู่ใกล้ตัว เช่น กาบกล้วย ใบกล้วย ต้นกล้วย ผักโขมหนาม ต้นตัง ไก่น้อย งวงต้นตาล ก้านตาล ฝักหรือเปลือกเพกา ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่งนำมาฝานให้บาง ผึ่งแดดให้แห้ง และเผาไฟจนเป็นเถ้า นำเถ้าที่ได้ไปแช่น้ำไว้ให้ตกตะกอน ใช้เฉพาะส่วนที่เป็นน้ำใส นำไหมที่จะฟอกลงแช่โดยก่อนจะนำไหมลงแช่จะต้องทุบไหมให้อ่อนตัว เพื่อที่น้ำจะได้ซึมเข้าได้ง่าย แช่จนไหมนิ่มและขาว จึงนำไปผึ่งแดดให้แห้ง หากไหมยังไม่สะอาดก็นำไปแช่ตามวิธีเดิมอีก จากนั้นการดึงไหมออกจากลุ่มไหมจะต้องทำโดยระมัดระวังไม่ให้พันกัน เส้นไหมที่ฟอกแล้วจะอ่อนตัวลง เส้นนิ่ม
3. การย้อมสีไหม สีไหมที่นิยมใช้ย้อมมี 2 ชนิด คือ
3. 1. สีย้อมที่ได้จากธรรมชาติ ได้จากต้นไม้ ใช้ได้ทั้งใบ เปลือก ราก แก่นและผล ชาวอีสานรู้จักการย้อมสีไหมให้ได้สีตามต้องการ จากสีธรรมชาติมานานแล้ว มีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควรเริ่มจากไปหาไม้ที่จะให้สีที่ต้องการ ซึ่งจะอยู่ในป่าเป็นส่วนไหญ่ บางสีต้องการใช้ต้นไม้หลายชนิด ทำให้ยุ่งยาก เมื่อได้มาแล้วต้องมาสับมาซอย หั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ นำไปต้มกรองเอาน้ำให้ได้มากตามต้องการ แล้วจึงนำไปย้อมแต่ละครั้งสีจะแตกต่างกันออกไป ไม่เหมือนเดิมทีเดียว ทำให้เกิดรอยด่างบนผืนผ้าได้ ปัจจุบันจึงนิยมใช้สีเคมีเป็นส่วนมากหรือเกือบทั้งหมด เพราะย้อมง่าย ขั้นตอนที่ทำไม่ยุ่งยากซับซ้อนสีที่ได้สม่ำเสมอ จะย้อมกี่ครั้งๆ ก็ได้สีเหมือนเดิมและสีติดทนนานมากกว่าสีจากธรรมชาติ ต้นไม้ที่นำย้อมแบบพื้นบ้าน สีที่ย้อมจากธรรมชาติ มีดังนี้
1. สีแดง ได้จาก ครั่ง รากยอ
2. สีน้ำเงิน ได้จาก ต้นคราม
3. สีเหลือง ได้จาก แก่นขนุน ขมิ้นชัน แก่นเข
4. สีเขียว ได้จาก เปลือกสมอและใบหูกวาง ใบเตย
5. สีม่วงอ่อน ได้จาก ลูกหว้า
6. สีชมพู ได้จาก ต้นฝาง ต้นมหากาฬ
7. สีดำ ได้จาก เปลือกสมอ และลูกมะเกลือ ลูกระจาย
8. สีส้ม ได้จากลูกสะตี (หมากชาตี)
9. สีน้ำตาลแก่ ได้จาก จานแก่นอะลาง
10. สีกากีแกมเขียว ได้จาก เปลือกเพกากับแก่นขนุน
11. สีกากีแกมเหลือง ได้จาก หมากสงกับแก่นแกแล
3.2. สีย้อมวิทยาศาสตร์ หรือสีสังเคราะห์ มีส่วนผสมทางเคมีวิธีย้อมแต่ละครั้ง จะใช้สัดส่วนของสี และสารเคมีที่แน่นอนสีที่ได้จากการย้อมแต่ละครั้งจะเหมือนกัน แหล่งทอผ้าในปัจจุบันนิยมใช้สีย้อมวิทยาศาสตร์

เครื่องมือสำหรับการเตรียมไหมก่อนทอ
         ก่อนการทอผ้าไหมต้องเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ของในการเตรียมไหมให้พร้อมก่อนทอ ดังนี้




1. กง ใช้สำหรับใส่ไจไหม
กง


2. อัก ใช้สำหรับกวักไหมออกจากกง
อัก

3. หลา เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับ
3.1 ใช้สำหรับปั่นหลอด (ไหม) จากอักมาสู่โบกเพื่อทำเป็นทางต่ำ (เส้นพุ่ง)
                  3.2 เข็นหรือปั่นไหม 2 เส้นรวมกัน เรียกว่า เข็นรังกัน เข็นควบกันหรือเข็นคุบกัน ถ้าเป็น ไหมคนละสี เข็นรวมกันแล้ว เรียกว่า มับไม

                  3.3 ใช้แกว่งไหม ขั้นตอนนี้เป็นการเก็บปุ่มที่เรียกว่า ขี้ไหมออกจากเส้นไหม และยังทำให้เส้นไหมบิดตัวแน่นขึ้น ใช้ทำเป็นทางเครือ (เส้นยืน)
หลา


4. โบก ทำจากไม้ไผ่โดยมีขนาดที่สามารถเข้ากับแกนตรงกลางของวงหลา
โบก ในภาพคือไม้ไผ่ขนาดเล็กมีเส้นไหมสีแดงพันโดยรอบ และติดอยู่กับแกนกลางของหลา

ก่อนจะทอผ้าไหมมีขั้นตอนการเตรียมไหมสำหรับทอ โดยมีวิธีการดังนี้


1. หลังจากได้ไหมที่ฟอกและย้อมสีแล้วนำไหมที่ได้มากวักไหมจากกงมาใส่อัก
กำลังกวักไหมจากกงมาใส่อัก


2. นำไหมจากอักมาใส่โบก
กำลังกวักไหมจากอักมาใส่โบก


3. นำไหมจากโบกมาใส่หลอดโดยใช้หลาเป็นเครื่องมือในการปั่นไหม
กำลังปั่นไหมจากโบกมาใส่หลอด


4. หลังจากได้หลอดด้าย(ไหม)โดยไหมที่เข็นได้นั้นใส่หลอดให้มีขนาดพอประมาณเพื่อนำมาใส่กระสวย
หลอดด้าย(ไหม)


5. หลังจากได้หลอดไหมแล้วหลังจากนั้นนำมาใส่กระสวย
นำไหมมาใส่ในกระสวย